สมุนไพรไทย

http://opalkikiki.siam2web.com/

ขลู่


ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica   (L.) Less.

ชื่อสามัญ Indian Marsh Fleabane 

วงศ์  Asteraceae (Compositae)

ชื่ออื่น :   หนวดงั่ว หนวดงิ้ว หนวดงัว หนาดวัว (อุดรธานี) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน) คลู ขลู (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-2.5 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน รูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ สีเขียว ก้านใบสั้น ดอก ออกเป็นช่อแยกขนงตามปลายยอด ช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น ดอกสีม่วงอ่อน ดอกย่อยมี 2 แบบ ตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกที่เหลืออยู่รอบๆ เป็นดอกเพศเมีย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผล เป็นผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอก เป็นสันเหลี่ยม 10 สัน
ส่วนที่ใช้ :
  ทั้งต้นสด หรือแห้ง เปลือก ใบ เมล็ด ดอก (นิยมใช้เฉพาะใบ)

สรรพคุณ :

  • ทั้งต้นสด หรือแห้ง - ปรุงเป็นยาต้มรับประทานขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วในไต แก้ปัสสาวะพิการ แก้วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง เป็นยาช่วยย่อย แก้ริดสีดวงทวารหนัก ริดสีดวงจมูก
  • เปลือก ใบ เมล็ด  - แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ใบ - มีกลิ่นหอม ต้มน้ำดื่ม แทนเป็นน้ำชา เพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว แก้แผลอักเสบ และต้มน้ำอาบบำรุงประสาท สำหรับแก้แผลอักเสบ อาจใช้ใบสดตำพอก บริเวณที่เป็น แก้ริดสีดวงทวาร ยาอายุวัฒนะ
  • ใบและราก - รับประทานเป็นยาฝาดสมาน แก้บิด แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้แผลอักเสบ ใช้รากสดตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ดอก - แก้โรคนิ่ว

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

  • เป็นยาแก้อาการขัดเบา
    ใช้ทั้งต้นขลู่ 1 กำมือ (สดหนัก 40- 50 กรัม แห้งหนัก 15- 20 กรัม ) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
  • เป็นยาริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก
    ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำ เอาไอรมทวารหนัก และรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร หรือใช้เปลือกต้น (ขูดเอาขนออก) แบ่งเป็น 3 ส่วน
    ส่วนที่ 1 นำมาตากแห้ง ทำเป็นยาสูบ
    ส่วนที่ 2 นำมาต้มน้ำรับประทาน
    ส่วนที่ 3 ต้มน้ำเอาไปรมทวารหนัก
    เปลือกบางของต้นขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง คล้ายเส้นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก
  • การใช้ขลู่ในใบชาลดความอ้วน !
    การใช้ยาขับปัสสาวะในทางการแพทย์นั้น มักใช้เพื่อลดความดันโลหิต และเพื่อลดอาการบวมน้ำ อาจมีที่ใช้ในกรณีอื่นอีกบ้าง แต่แพทย์ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดความอ้วน สมุนไพรที่ใช้ชื่อว่า ใบชาลดความอ้วน ทั้งหลาย มักมีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอยู่ด้วย เมื่อแพทย์ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดความอ้วน ทำไมผู้ที่มิใช้แพทย์จึงใช้สมุนไพรขับปัสสาวะเพื่อลดความอ้วน ? (ข้อนี้โปรดใช้วิจารณญาณ)

สารเคมี : ในใบพบ 3-(2,3-diacetoxy-2-methyl butyryl) cuauhtemone

 

ว่านกาบหอย


ชื่อวิทยาศาสตร์  Tradescantia spathacea  Stearn

ชื่อสามัญ  Oyster plant , White flowered tradescantia

วงศ์  Commelinaceae

ชื่ออื่น :   กาบหอยแครง ว่านหอยแครง ( กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 20-45 ซม. ลำต้นอวบใหญ่ แตกใบรอบเป็นกอ ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงซ้อนเป็นวงรอบ รูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ หลังใบสีเขียว ท้องใบสีม่วงแดง เนื้อใบหนา ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อประกอบด้วยใบประดับสีม่วงปนเขียว รูปหัวใจคล้ายหอยแครง มี 2 กาบ โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอยหุ้มดอกสีขาว ดอกสีขาวเล็กอยู่รวมเป็นกระจุก กลีบดอก 3 กลีบ รูปไข่ สีขาว แผ่นกลีบหนา เกสรเพศผู้มี 6 อัน ผล รูปรี กว้าง 2.5-3 มม. ยาว 3.5 มม. มีขนเล็กน้อย ผลแก่แตกออกเป็น 3 ซีก เมล็ดเล็ก
ส่วนที่ใช้ :
ใช้ใบสด หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ และดอก เมื่อเก็บดอกที่โตเต็มที่ แล้วตากแห้ง หรืออบด้วยไอน้ำ 10 นาที แล้วจึงนำไปตากแห้ง เก็บเอาไว้ใช้

สรรพคุณ :

  • ใบ - แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไอ อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน เนื่องจากพลัดตกจากที่สูงหรือหกล้มฟาดถูกของแข็ง แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ดอก -  รสชุ่มเย็น ต้มกับเนื้อหมูรับประทาน ใช้ขับเสมหะ แก้ไอแห้งๆ แก้อาเจียนเป็นโลหิต เลือดกำเดาออก ห้ามเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ไอเป็นเลือด แก้บิดถ่ายเป็นเลือด

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

  • ใบ   ใช้ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 15- 30 กรัม ใช้ภายนอก โดยการตำพอก
  • ดอก ใช้ดอกแห้งหนัก 10- 15 กรัม หรือ ดอกสด หนัก 30- 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม

ตำรับยา :

  • แก้ไอ ร้อนใน กระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ฟกช้ำภายใน เนื่องจากพลัดตกจากที่สูง หรือหกล้มฟาดถูกของแข็ง
    ใช้ใบสด 3 ใบ ต้มน้ำผสมน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่ม
  • แก้หวัด ไอ มีเสมหะปนเลือด เลือดกำเดาออก บิดจากแบคทีเรีย
    ใช้ดอกแห้ง 20-30 ดอก ต้มน้ำดื่ม


กระเจี๊ยบแดง



 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Hibiscus sabdariffa  L.

ชื่อสามัญ  Jamaican Sorel, Roselle

วงศ์  Malvaceae

ชื่ออื่น :  กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ย  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุปีเดียว สูง 1-2 เมตร เปลือกต้นเรียบ ลำต้นและกิ่งสีม่วงแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบหยักเว้าลึก 3-5 แฉก แต่ละแฉกกว้าง 0.5-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ก้านใบยาว 4-15 ซม. ดอก ออกเดี่ยวตามซอกใบ มีริ้วประดับสีแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 แฉก สีแดงเข้ม อวบน้ำ กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง ตรงกลางดอกสีม่วงแดง เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผล รูปไข่ สีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง ติดทนขนาดใหญ่รองรับอยู่จนผลแก่ ผลแห้งแตกได้ เมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :
กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล ใบ ดอก ผล เมล็ด

สรรพคุณ :

  • กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
    1. เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย
    2. ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแรงแต่อย่างใด
    3. น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
    4. ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งแรงได้ดี
    5. น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง
    6. ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ
    7. เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ
    8. เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่

  • ใบ - มีรสเปรี้ยว แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก

  • ดอก -  แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก

  • ผล - ลดไขมันในเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ

  • เมล็ด -  รสเมา บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด
    นอกจากนี้ ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในสำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้วยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา  (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป
สารเคมี :
สารเคมีที่สำคัญใน ดอก พบ Protocatechuic acid. hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin

คุณค่าด้านอาหาร
          น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
          น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร
Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ


กระดังงาไทย



 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cananga odorata  Hook.f. & Thomson var. odorata

ชื่อสามัญ  Ylang-ylang Tree

วงศ์  ANNONACEAE

ชื่ออื่น :  กระดังงา, กระดังงาใบใหญ่ , กระดังงาใหญ่, สะบันงา, สะบันงาต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-20 ม. มีรอยแผลใบขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป กิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายย้อยลู่ลง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ยาว ปลายแหลม โคนมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนมีขนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่มักมีขนมากตามเส้นแขนงใบและเส้นกลางใบ ช่อดอกสั้น ออกห้อยรวมกันบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่งๆ มี 3-6 ดอก ดอกใหญ่ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม มีขน กลีบดอกเรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ แต่ละกลีบรูปขอบขนานปลายแหลม มีขน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบชั้นในแคบกว่าชั้นนอกเล็กน้อย โคนกลีบด้านในสีม่วงอมน้ำตาล ดอกอ่อนกลีบสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน ผลเป็นผลกลุ่ม อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล แต่ละผลรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเขียวคล้ำจนเกือบดำ มี 2-12 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน

สรรพคุณ :

  • ดอกแก่จัด  -  ใช้เป็นยาหอมบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน ชูกำลังทำให้ชุ่มชื่น ให้น้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม ใช้ปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ

  • ใบ, เนื้อไม้  -  ต้มรับประทาน เป็นยาขับปัสสาวะพิการ

วิธีใช้ :

  1. ใช้ดอกกลั่น  ได้น้ำมันหอมระเหย

  2. การแต่งกลิ่นอาหาร  ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด ลมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 5,710 Today: 2 PageView/Month: 28

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...